อาคารเขียวคืออะไร?

อาคารเขียว (Green Building) หมายถึง อาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน มีเป้าหมายคือ การใช้ทรัพยากรณ์ให้มีประสิทธิภาพที่สุด เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด “ตลอดอายุของอาคาร”

ตั้งแต่กระบวนการออกแบบอาคาร (Design), การก่อสร้าง (Construction) หรือการใช้งานอาคาร (Operation) ,การปรับปรุงอาคาร (Maintenance) และการกำจัดวัสดุหลังจากหมดอายุการใช้งานอาคาร

การออกแบบอาคารเขียวจะออกแบบโดยให้ความสำคัญกับหัวข้อดังนี้

  • การใช้น้ำ, พลังงาน และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานแสงอาทิตย์
  • การลดของเสียและมีการใช้ซ้ำ (Re-use) หรือรีไซเคิล (Recycle)
  • สภาพแวดล้อมและคุณภาพอากาศภายในอาคาร
  • การใช้วัสุดที่ไม่เป็นพิษ (non-toxic) และมีความยั่งยืน (Sustainable)
  • การคำนึงถึงธรรมชาติตั้งแต่กระบวนการออกแบบ, การก่อสร้างและระหว่างใช้งานอาคาร
  • การคำนึงถึงสิ่งมีชีวิต ที่มีอยู่เดิม ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ, การก่อสร้างและระหว่างใช้อาคาร
  • การออกแบบที่คำนึงถึงการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเดิม

อาคารทุกหลังสามารถเป็น อาคารเขียวได้ตั้งแต่ บ้าน, ออฟฟิศ, โรงเรียน. โรงพยาบาล, อาคารสมาคม หรืออาคารอื่นๆ

หลายคนจะสงสัยว่าอาคารนี้เป็นอาคารเขียวหรือไม่ อาคารประหยัดพลังงานเป็นอาคารเขียวหรือเปล่า จึงมีการกำหนดมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารเขียว และมีการให้คะแนนว่าอาคารนั้นเขียวระดับไหน

มาตรฐานที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยมี 2 อย่างคือ LEED และ TREES

มาตรฐาน leed คืออะไร

LEED (Leadership in Energy and Environmental Design)

LEED เป็นมาตรฐานประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคารพัฒนาขึ้นโดย United State Green Builing Council (USGBC) เกิดจากการรวมตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการออกแบบอาคารตั้งแต่ปีค.ศ. 1993

หลักเกณฑ์การประเมินระดับการรับรองของ LEED ประกอบด้วย

    1. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency : WE)
    2. การใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งอย่างยังยืน (Sustainable Sites : SS)
    3. วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resource : MR)
    4. คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality : IEQ)
    5. พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere : EA)
    6. ลำดับความสำคัญของท้องถิ่น (Regional Priority : RP)
    7. นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation in Design : ID)
สถาบันอาคารเขียวไทย

TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability)

TREES เป็นมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไทยจากสถาบันอาคารเขียวไทย (Thai Green Building Institute : TGBI) ซึ่งก่อตั้งในปีพ.ศ. 2552 โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างองค์ความรู้, มาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมภายในประเทศ

หลักเกณฑ์การประเมินระดับการรับรองของ TREES ประกอบด้วย

      1. การบริหารจัดการอาคาร ( BM : Building Management )
      2. ผังบริเวณและภูมิทัศน์ ( Site and Landscape )
      3. การประหยัดน้ำ ( WC : Water Conservation )
      4. พลังงานและบรรยากาศ ( EA : Energy and Atmosphere )
      5. วัสดุและทรัพยากรณ์ในการก่อสร้าง ( MR : Materials and Resources )
      6. คุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร ( IE : Indoor Environmental Quality )
      7. การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ( EP : Environmental Protection )
      8. นวัตกรรม ( GI : Green Innovation )

ประโยชน์ของอาคารเขียว

ช่วยอนุรักษณ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษณ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ปกติอาคารเขียวจะลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 10% – 48% ผ่านการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสม ในขั้นตอนของการก่อสร้างจะมีการควบคุมไม่ให้รบกวนชุมชุนโดยรอบ มีการกำจัดขยะจากโครงการอย่างเหมาะสม คลอดจนการรักษาพื้นที่สีเขียวในโครงการอย่างน้อย 20% ของพื้นที่

ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการอาคาร

ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอาคาร

วัสดุหลักในอาคารจะมุ่งเน้นไปที่การใช้งานที่มีประสิทธิภาพ อายุการใช้งานที่ยาวนาน การะประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ซึ่งจะมีระบบจัดการอาคารอัตโนมัติ (Building Automation System หรือ BAS) ทำหน้าที่ควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบแสงไฟ ระบบปรับอากาศ และระบบอื่นภายในอาคาร เพื่อให้ใช้งานพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปิดไฟในพื้นที่ไม่มีคนอยู่ ปรับอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมกับปริมาณผู้คนในพื้นที่

ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ใช้อาคาร

เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คนในอาคาร

วัสดุก่อสร้างภายในอาคารจะถูกควบคุมโดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคาร เช่น สารอินทรีย์ระเหยต่ำ ( Low Volatile Organic Compounds : Low VOCs ) การควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality) การควบคุมอุณหภูมิ เสียงและแสง ในพื้นที่ใช้งาน รวมถึงการเดินทางไปยังระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลอีกด้วย

สะท้อนภาพลักษณ์องค์กร

สะท้อนภาพลักษณ์องค์กร

การเป็นเข้าของอาคารเขียวช่วยสะท้อนวิสัยทัศน์และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร นับเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการใส่ใจถึงผู้คน เสริมสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนขององค์กรได้อีกด้วย

ช่วยเพิ่มมูลค่าอาคาร

การเพิ่มมูลค่าอาคาร

ในกรณีของการปล่อยให้เช่าพื้นที่ภายในอาคาร จะสามารถปล่อยเช้าได้ในราคาที่สูงกว่า เมื่อสะท้อนผ่านการลดค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตจากการใช้งานอาคารในระยะยาว

แบ่งปันเรื่องราว