อัคคีภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลกและเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตผู้คน ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมทางด้านของอัคคีภัยแต่อาจใช้คำว่า “ ไม่เข้มงวด ” เพราะในหลากหลายของอาคารก็ยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ในประเทศไทยเราจะมีมาตรฐานของ วสท ชื่อว่า มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง พรบ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2543 แต่มาตรฐานที่ใช้ในระดับนานาชาติจะเป็น NFPA ( National Fire Protection Association )
งานป้องกันอัคคีภัย คืออะไร?
งานป้องกันอัคคีภัยนั้นเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องในหลายๆสาขา แต่มีเป้าหมายร่วมกันคือ เพื่อปกป้อง ชีวิต ทรัพย์สิน การดำเนินธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม ใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่3 พ.ศ.2543
กำหนดให้ อาคารสูง อาคารชุมนุมคน ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบทางด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบทางด้านสถาปัตยดรรม ทำการตรวจสอบ ระบบการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัย แล้วรายงานผลการตรวจสอบต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
หลักการในการป้องกันอัคคีภัย จะประกอบด้วย
- สร้างอาคารที่สามารถทนไฟ
- การแบ่งพื้นที่ป้องกันและควันไฟลาม
- จัดทางหนีไฟที่สะดวกและปลอดภัย
- การควบคุมวัสดุภายในอาคาร
- การบริหารความปลอดภัยที่ดี
- ระบบเตือนอัคคีภัย
- ระบบดับเพลิงและระบบควบคุมควันไฟที่ได้มาตรฐานและอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี
การแบ่งส่วนพื้นที่อาคาร
เหตุผลที่เราแบ่งพื้นที่ของอาคารนั้นก็เพื่อ ควบคุมเพลิงให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนดไม่ให้ลามออกไปยังพื้นที่อื่นเป็นการจำกัดความเสียให้ให้อยู่ในพื้นที่เดียว ทำให้ผู้คนมีเวลาในการอพยพหนีไฟได้ทันและมีเวลาให้พนักงานดับเพลิงสามารถเข้ามาดับเพลิงได้ทันเวลา
จากแบบอาคารนี้เราจะเห็นว่าถ้าเกิดไฟไหม้ที่โซน A ไฟจะไม่ลามไปที่โซน B เพราะมีการแบ่งพื้นที่ระหว่างโซน A และ B ด้วยผนังกั้นซึ่งผนังกั้นระหว่างโซนจะต้องเป็นผนังที่ทนไฟ 2 ชั่วโมง และถ้าที่ผนังกั้นโซนมีช่องเปิดเช่น ประตูหรือ ท่อที่ทะลุผ่านผนังกั้น วัสดุของช่องเปิดต้องมีอัตราทนไฟที่เท่ากับตัวผนังกั้น ( ผนังกั้นทนไฟ 2 ชั่วโมง ดังนั้นประตูก็ต้องทนไฟ 2 ชั่วโมง )
ตัวอย่างอัตราการทนไฟของผนังไม่รับน้ำหนัก
ประเภทผนัง | อัตราทนไฟ ( นาที ) |
---|---|
ผนังอิฐมอญก่อ 1/2 แผ่น ฉาบปูน 1.5 – 2 ซม. สองด้าน | 60 |
ผนังอิฐมอญก่อเต็มแผ่น ฉาบปูน 1.5 – 2 ซม. สองด้าน | 120 |
ผนังอิฐบล็อกหนา 14 ซม. ฉาบปูน 1.5 – 2 ซม. สองด้าน | 120 |
ผนังอิฐบล็อกหนา 19 ซม. ฉาบปูน 1.5 – 2 ซม. สองด้าน | 180 |
การป้องกันช่องเปิด
เรามีเหตุผลที่เราต้องป้องกันช่องเปิดที่ทะลุผ่านผนังกันไฟ ก็เพื่อป้องกันควันไฟหรือเปลวไฟลุกลามผ่านทางช่องเปิดนั้น ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้เรามีการแบ่งโซนอย่างเรียบร้อยทำให้ไฟไม่สามารถลุกลามไปยังโซนอื่นได้ แต่เราลืมที่จะป้องกันรูของท่อที่ผ่านผนัง ทำให้ควันผ่านทางช่องนี้มาบดบังการมองเห็นขณะที่เรากำลังหนีไฟ การป้องกันช่องเปิดนั้นเราทำก็เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของผนังที่เราได้ทำการแบ่งส่วนอาคารไว้
การควบคุมวัสดุในอาคาร
วัสดุที่ติดกับตัวอาคารจะอยู่กับอาคารเป็นระยะเวลานานเช่น พื้น ผนัง ฝ้า-เพดาน ม่าน อุปกรณ์ประดับ ฯลฯ
– วัสดุที่ใช้ไม่ควรวาบไฟ-ไวไฟ ( Not Flammable )
– วัสดุที่ใช้ไม่ควรมีสารพิษเมื่อติดไฟหรือเกิดควัน ( Non Toxic )
– วัสดุควรมีมาตรฐานที่มีการทดสอบโดยสถาบันที่เชื่อถือได้
เส้นทางหนีไฟ ( Means of Egress )
ทางหนีไฟ คือเส้นทางที่จะนำเราไปสู่พื้นที่ปลอดภัยหรือจนถึงระดับพื้นดิน ต้องไม่สิ่งกีดขวางมีจำนวนที่มากเพียงพอและต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ( ปราศจากควันไฟ หรือไฟ ) เพราะทางหนีไฟเป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะหลบหนีทางไหนถึงจะปลอดภัย ถ้าให้เรามารอว่าสปริงเกอร์ทำงานฉีดน้ำดับไฟเราจะรอมั้ย
ถ้าเกิดเหตุขัดข้องอะไรขึ้นมากับตัวสปริงเกอร์ ( ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ) เราก็ยังมีทางหนีไฟที่ปลอดภัย มีการแบ่งพื้นที่โซนของอาคารเพื่อป้องกันไฟลุกลาม มีอาคารทนไฟท่สามารถไว้ใจได้ และยังมีการควบคุมวัสดุของอาคารที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมาแล้ว เราจึงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเราสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า การป้องกันอัคคีภัยแบบ Passive Fire Protection
ส่วน Active Fire Protection นั้นคือระบบที่ต้องทีการสั่งการหรือตรวจจับเหตุเพลิงไหม้ได้ก่อน เช่น
- ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ( Fire Alarm )
- ลิฟต์พนักงานดับเพลิง ( Fireman Lift )
- ระบบสื่อสาร ( Communication System )
- ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน ( Emergency Electric )
- ระบบไฟส่องสว่าง ( Lighting )
- ระบบดับเพลิง ( Sprinkler System )