แอร์สิ่งที่ทุกบ้านทุกอาคารต้องมี ถ้าหากไม่มีละก็จะต้องทนกับความร้อนของประเทศไทยอย่างแสนสาหัส ด้วยประเทศไทยเป็นเมืองร้อนทำให้อุตสาหกรรมแอร์ในประเทศเติบโตอย่างมาก และหลายคนคงจะไม่รู้ว่า ประเทศไทยของเราเป็นผู้ผลิตแอร์อันดับ 2 ของโลก บ้านเราจึงมีแอร์หลากหลายแบรนด์แข่งขันกันอย่างดุเดือด
ในบ้านก็จะมีแอร์ชนิดติดผนังปล่อยลมเย็นออกมาให้เราสดชื่น สบายแล้วถ้าในอาคารหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ล่ะจะส่งลมเย็นอย่างไร
ในอาคารพาณิชย์หรือห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่จะมีการใช้ ชิลเลอร์ ซึ่งจะเป็นเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่โดยการแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างน้ำและลม ลมที่เย็นก็จะไหลไปตามท่อสังกะสีและออกตามหัวจ่ายลมตามที่เราติดตั้งไว้
แต่ระยะทางระหว่างเครื่องชิลเลอร์ถึงหัวจ่ายลมเย็นเป็นระยะทางที่ไกลมาก ลมเย็นก็จะไม่เย็นอีกต่อไปเมื่อออกที่หัวจ่าย ดังนั้นท่อส่งลมจึงต้องหุ้มฉนวนกันความร้อนเพื่อป้องกันความเย็นไหลออกจากท่อลมนี้
ฉนวนงานระบบปรับอากาศคืออะไร ?
ในงานแอร์หรืองานระบบปรับอากาศทั้งแอร์เล็กและแอร์ใหญ่ต่างก็ต้องใช้ฉนวนกันความร้อนและใช้อยู่หลากหลายชนิดซะด้วย ในแอร์เล็กจำพวกแอร์ติดผนังชนิดที่ใช้น้ำยาแอร์ก็จะใช้ฉนวนยางดำหุ้มท่อน้ำยา เพื่อป้องกันความเย็นของน้ำยาไหลออก
ส่วนในแอร์ใหญ่เช่น ชิลเลอร์ หรือ VRF ก็จะใช้ฉนวนยางดำหุ้มที่บริเวณท่อเย็นเหมือนกัน แต่ถ้าหากต้องตีท่อลมสังกะสีก็จะใช้ฉนวนยางดำหรือฉนวนใยแก้วหุ้มท่อสังกะสีอีกทีเพื่อรักษาอุณหภูมิของลมเย็นเอาไว้
ในบางงานที่ท่อลมมีเสียงที่ค่อนข้างดังก็จะมีการใช้ฉนวนใยแก้วบุผิวในท่อลมเพื่อลดเสียงของลมอีกด้วย
หยดน้ำในระบบปรับอากาศเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ในบางครั้งเราจะสังเกตเห็นหยดน้ำหรือละอองไอน้ำเกาะตามท่อส่งลมเย็น แล้วหยดน้ำมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง? เราต้องมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของอากาศกันก่อน
อย่างที่เราทราบกันดีว่าในอากาศมีไอน้ำอยู่ ซึ่งเราจะเรียกมันว่า “ ความชื้น ” แล้วอากาศที่อุณหภูมิแตกต่างกันก็มีไอน้ำได้ไม่เท่ากันซะด้วย
อากาศที่มีอุณหภูมิต่ำจะมีความสามารถในการถือ “ ไอน้ำ ” ไว้ในตัวได้น้อยอย่างที่เราบอกกันว่าในฤดูหนาว “ อากาศแห้ง ” ส่วนอากาศที่มีอุณหภูมิสูงจะสามารถถือ “ ไอน้ำ ” ไว้ได้เยอะกว่ายิ่งวันไหนที่อากาศร้อนมากและฝนตกด้วย อากาศก็จะร้อนชื้นเราจะรู้สึกอึดอัดและเหนอะหนะตัวอย่างมาก
เมื่อเรารู้จักกับความชื้นและความสามารถของอากาศในการถือไอน้ำไว้ได้แล้วเราจะได้อธิบายเรื่องของการเกิดหยดน้ำที่ผิวท่อกันต่อ อากาศที่ไหลอยู่ภายในท่อสังกะสีจะมีอากาศที่เย็นอยู่แน่นอน เพราะมันรับความเย็นมาจากเครื่องทำความเย็นแล้ว
แล้วทีนี้อากาศด้านนอกมันต้องร้อนกว่าในท่ออยู่แล้ว เมื่ออากาศร้อนนอกท่อชนเข้ากับความเย็นที่ผิวท่ออากาศร้อนนอกท่อก็จะเย็นตัวลง ทำให้อากาศตรงนั้นถือไอน้ำได้น้อยลงเมื่อถึงอุณหภูมิจุดหนึ่งที่อากาศนอกท่อถือไอน้ำไม่ไหวก็จะเกิดออกมาเป็นหยดน้ำเกาะตามท่ออย่างที่เราเห็นกัน
ตัวอย่างนี้สามารถเห็นได้ชัดๆจาก เมื่อเราเทน้ำเย็นลงในแก้วแล้วเวลาผ่านไปสักพักก็จะเกิดหยดน้ำขึ้นที่บริเวณข้างแก้ว
แล้วเราจะแก้ปัญหาที่มันเกิดหยดน้ำนี้ได้อย่างไร วิธีการคิดมันก็ง่ายๆ แค่เราทำให้ผิวท่อมันไม่เย็นจนอากาศร้อนด้านนอกมันเกิดเป็นหยดน้ำก็จบแล้วไง ฉนวนกันความร้อนสำหรับท่อปรับอากาศจึงเข้ามาช่วยในเรื่องนี้
ฉนวนกันความร้อนระบบปรับอากาศจะช่วยทำให้ความเย็นภายในท่อไม่ไหลออกมาจากด้านใน ผิวท่อด้านนอกก็จะไม่เกิดหยดน้ำ ก็มีหลายคำถามตามมาว่ามันจะเป็นแแบบนั้นจริงๆหรือ
เราก็เลยอยากจะยกตัวอย่างง่ายๆ คือ “ แก้วเก็บความเย็น ” โดยแก้วเก็บความเย็นจะเป็นแก้ว 2 ชั้น ที่ช่องว่างระหว่างของแก้วเป็นสุญญากาศ หรือใส่ฉนวนกันความร้อน ดังนั้นเราจะไม่เห็นที่ผิวด้านนอกของแก้วเป็นหยดน้ำเลย แต่ภายในแก้วอุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 0 – 1 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง
ฉนวนงานระบบปรับอากาศติดตั้งตรงไหนและอย่างไร ?
สำหรับแอร์ตามบ้าน แอร์แบบแยกส่วนเราจะหุ้มบริเวณท่อน้ำยาที่เข้ากล่องคอมเพลสเซอร์และออกจากกล่องคอมเพลสเซอร์ เพราะทั้ง 2 ท่อเป็นท่ออุณหภูมิต่ำถ้าไม่หุ้มฉนวนจะทำให้คอมเพลสเซอร์ทำงานหลักขึ้น แอร์กินไฟมากขึ้นและคอมเพลสเซอร์เสียเร็ว
สำหรับเครื่องชิลเลอร์ เราจะหุ้มฉนวน 3 จุดคือ
1.) เครื่องชิลเลอร์
2.) ท่อน้ำเย็น
3.) ท่อส่งลมเย็นทั้งภายในและภายนอก
เครื่องชิลเลอร์ จะต้องหุ้มฉนวนยางดำรอบตัวเครื่องเลย เพราะเครื่องชิลเลอร์เป็นจุดที่รวมน้ำยาชิลเลอร์เพื่อแลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำเย็นที่จะส่งไปที่ท่อลมเย็นอีกครั้งหนึ่ง น้ำเย็นที่เข้าเครื่องชิลเลอร์นั้นจะเข้ามาที่อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียสและจะออกไปที่ 7 องศาเซลเซียส ถ้าหากไม่หุ้มฉนวนก็จะทำให้ศูนย์เสียพลังงานไปเยอะมาก
ท่อน้ำเย็น จะต่อกับปั๊มน้ำและต่อกับหัวจ่ายลมเย็น ( Air Handling Unit : AHU ) น้ำเย็นที่รับมาจากชิลเลอร์อุณหภูมิ 7 องศาเซลเซียสจะไหลไปตามท่อน้ำเย็นเพื่อต่อเข้าที่คอยล์เย็น และเมื่อผ่านคอยเย็นเสร็จแล้วก็จะไหลกลับมาที่เครื่องชิลเลอร์อีกครั้งหนึ่ง
เราต้องหุ้มท่อน้ำเย็นทุกส่วนทั้งท่อน้ำที่เดินจากเครื่องชิลเลอร์เข้าสู่หัวจ่ายลมเย็น และท่อน้ำเย็นที่ออกจากหัวจ่ายลมเย็นกลับเข้าเครื่องชิลเลอร์ เพราะอุณหภูมิขาเข้าหัวจ่ายลมเย็นอยู่ที่ 7 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิของอากาศภายนอกอยู่ที่ 28 – 30 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงต้องหุ้มฉนวนยางดำถ้าไม่อยากเสียพลังงานตรงส่วนนี้ไป
เหมือนกันกลับท่อที่กลับจากหัวจ่ายลมเย็นที่อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 12 องศาเซลเซียส ก็ต้องหุ้มฉนวนยางดำ ถ้าไมอย่างนั้นชิลเลอร์ก็จะรับภาระที่ต้องทำความเย็นเพิ่มขึ้น
ท่อส่งลมเย็น จะเป็นท่อลมสังกะสีที่ต่อออกมาจากหัวจ่ายลมเย็น เพื่อนำลมเย็นไปปล่อยออกสู่พื้นที่ต่างๆ ภายในอาคาร ที่ภายในท่อจะมีลมที่มีอุณหภูมิต่ำและมีความชื้นสูงเราจึงต้องหุ้มฉนวนกันความร้อนใยแก้วที่ปิดผิว 1 ด้านด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ หรือแผ่นยางดำหุ้มรอบท่อลม และด้านในของท่อลมติดตั้งเป็นแผ่นใยแก้วปิดผิวด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ 1 ด้านเหมือนกัน เพื่อให้คงอุณหภูมิในท่อให้เย็นอยู่เสมอส่วนใยแก้วด้านในท่อลมจะช่วยลดเสียงของลม
ฉนวนที่ใช้ในระบบปรับอากาศใช้อะไรได้บ้าง ?
งานระบบปรับอากาศส่วนใหญ่จะใช้ฉนวนกันความร้อนอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ ฉนวนใยแก้วและฉนวนยางดำ
ฉนวนใยแก้ว จะถูกใช้บริเวณรอบนอกและในของท่อลมสังกะสี ซึ่งจะต้องปิดผิวด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ 1 ด้าน โดยที่บริเวณช่องของท่อลมที่ต้องการจะต้องคิดเผื่อความหนาของฉนวนใยแก้วที่ใส่ด้านในของท่อลมด้วย เพราะใยแก้วจะช่วยในการซับเสียงได้ดี ทำให้เสียงของลมที่อยู่ภายในท่อไม่สามารถออกมาได้
ฉนวนยางดำ จะถูกติดตั้งบริเวณที่เป็นเครื่องชิลเลอร์และท่อส่งน้ำเย็นเพราะฉนวนยางดำจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในส่วนที่เป็นงานทำความเย็น ในบางครั้งฉนวนยางดำจะถูดนำมาหุ้มบริเวณที่เป็นท่อส่งลมเย็นด้วยเหมือนกัน ในบางงานที่มีการคำนวณเผื่อในเรื่องของเสียงที่เกิดจากลมแล้วก็สามารถใช้เป็นฉนวนยางดำได้เลย